อำนาจของการสื่อสาร ตอนที่ 2


เสียงเพลงจาก last.fm ดังขึ้นจากดีเจไร้นามบนโลกอินเตอร์เน็ต “กาละกาเล เวลาหมุนไป สรรพสิ่งอันใด เปลี่ยนไปตามกาล เก่าไป ใหม่มา ธรรมดาสังขาร เหลือเป็นตำนาน เล่าขานกันไป ..” ชื่อเพลงกาละเทศะ ซึ่งเป็นการขับร้องใหม่ ในชุดบ้าหอบฟาง ของอัสนี วสันต์ ต้นฉบับดังเดิม ของวง Butterfly ที่มี เรวัติ พุทธินันท์ เป็นหัวเรือใหญ่ ประโยคเพลงสอดคล้องกับอำนาจของการสื่อสาร ที่ผมจะกล่าวต่อไป ผมได้พยายามพิสูจน์ทำไมการสื่อสารถึงมีอิทธิพลต่อชีวิตเรา ซึ่งที่กล่าวไปแล้วนั้นตัวแปรหนึ่งในสมการนี้คือเรื่องของเวลา และทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องของปัจจัยที่อยู่ภายนอกที่เป็นวัตถุนิยมเสียส่วนใหญ่
จะขอขยายความอีกสำหรับปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้การสื่อสารนั้นมีอำนาจต่อการใช้ชีวิต
โลกคือดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในสุริยจักรวาลซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้หยั่งรู้ถึงอายุของโลกคือประมาณ 4,500 ล้านปี และเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเริ่มเกิดขึ้น 3,500 ล้านปี เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมา ฝั่งยุโรป ได้ค้นพบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แทนที่จะเอาวิทยาศาสตร์ไปสร้างปัญญา กลับเอาวิทยาศาสตร์ไปสร้างอำนาจ จากเทคโนโลยีจากการสื่อสารเพื่อสนองตอบความต้องการของมนุษย์ ในด้านวัตถุนิยม

วิวัฒนาการของการสื่อสาร ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรจากปัจจัยภายนอก
จากความต้องการของมนุษย์ ที่ต้องการสื่อสารนำข่าวที่ต้องการส่งออกไปยังผู้รับที่อยู่ในระยะห่างไกล และต้องการให้ถึงผู้รับในเวลาที่รวดเร็วขึ้นด้วยนั้น ในขณะที่พัฒนาการด้านระยะทางยังคงจำกัดเมื่อใช้ “สื่อ” สัญญาณจากธรรมชาติดัง ดังนั้นมนุษย์ จึงได้พยายามที่จะสร้างสรรค์วิธีการให้ “สื่อ” ต่าง ๆ เหล่านั้น มีความสะดวกในการแทนความหมายของข่าวสารและทำได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมสัญญาณไฟ ควัน หรือเสียงที่ถูกจำกัดด้านระยะทาง และอาจไม่ปลอดภัยหากข่าวสารที่เผยแพร่นั้นได้ถึงมือผู้รับอื่น ที่ไม่พึงประสงค์ พัฒนาการเพื่อเอาชนะขอบเขต ของธรรมชาติ จึงได้ปรากฏขึ้น กับสิ่งประดิษฐ์แรกด้านโทรคมนาคม ที่มีพื้นฐานของการนำสัญญาณข่าวสารต่าง ๆ ที่ต้องการสื่อสารมายกระดับความสูงขึ้น เพื่อเพิ่มระยะทางจนกลายมาเป็น “โทรเลขเชิงแสง (Optical Telegraphy)” หรือที่เรียกว่าการสื่อสาร ด้วยเสาส่งสัญลักษณ์ (Semaphore Communication) อันเป็นการเปิดยุคโทรคมนาคมยุคแรก ซึ่งความหมายของยุคโทรคมนาคมนี้คือ “เป็นระบบ มีหลักการและวิธีการ ใช้งานซ้ำได้และได้รับการยอมรับ”
จากพัฒนาการของโทรคมนาคมและการสื่อสารระบบแรกที่อยู่บนพื้นด้านการใช้แสงเป็น“สื่อ” นี้ ยังมีขอบเขตจำกัดหลายด้านทำให้มนุษย์ได้พยายามคิดค้น พัฒนาระบบอื่น ๆ ตามมา เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัด ของ ระยะทาง และความเร็วของระบบก่อนๆ หน้ามาอย่างต่อเนื่อง การคิดค้นนั้นอยู่บนพื้นฐานทั้งของวิทยาการและการ ประยุกต์ใช้งานที่เป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนามาตั้งแต่อดีต ดังนี้
โทรเลขเชิงแสงหรือระบบการสื่อสารที่อยู่บนขอบเขตของการมองเห็นจากระยะไกลได้ กลายเป็นระบบโทรคมนาคมที่มีความสำคัญสูงร่วมสมัยในยุคที่ค้นพบและมีใช้งาน กว่าครึ่งศตวรรษ แม้ว่าการประยุกต์ใช้ กล้องส่องทางไกล เพื่อช่วยเพิ่มระยะทาง การสื่อสารหรือการมองเห็นได้ ระบบโทรเลขเชิงแสงนั้นก็ได้ลดความสำคัญลง เมื่อระบบสื่อสารที่มีพื้นฐานการใช้ไฟฟ้าเข้ามาทดแทน เช่น โทรเลขไฟฟ้า เป็นต้น
ต่อมาวิทยาการด้านแม่เหล็กไฟฟ้า ก็ได้ขับดัน ให้เกิดระบบโทรคมนาคมอื่น ๆ เข้ามาร่วมกับโทรเลขไฟฟ้ามากขึ้น การส่งสัญญาณโทรเลข ผ่านสายกระทำได้ในระยะทางไกลและไกล จนกระทั่ง การส่งโทรเลขสามารถ ใช้สื่อสารข้ามมหาสมุทรได้ เกิดเป็นการปฏิวัติการสื่อสารโทรคมนาคม ของโลกครั้งใหญ่ และเกิดระบบอื่น ๆ ต่อเนื่องตามมาด้วยคือ “โทรพิมพ์ (Teleprinter)” “เทเลกซ์ (Telex)” และ “เทเลเทกซ์ (Teletext)” ตามลำดับ พัฒนาการของความเข้าใจด้านไฟฟ้าและการค้นพบกฏทางไฟฟ้าต่าง ๆ(Laws of Electricity)ได้ผลักดันไปสู่การพัฒนาสายส่งสัญญาณ ที่มีคุณภาพดีขึ้น มีการลดทอน (Attenuation) และการบานออกของสัญญาณ (Dispersion) ที่น้อยลง ทำให้ระยะทางของการส่งสัญญาณ ทางไฟฟ้าทางสายส่งทำระยะได้ไกลมากขึ้น จากการสื่อสารระดับประเทศ ได้กลายเป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และต่อเข้าเป็นเครือข่าย การสื่อสารได้ทั่วทุกทวีป ในเวลาต่อมา รวมทั้งการพัฒนาเทคนิค การส่งสัญญาณจากแบบแอนะล็อก ไปสู่ดิจิทัลและเกิดระบบการตัดต่อสัญญาณ หรือเทคโนโลยีชุมสาย(Switching)ก็ได้ทำให้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมกลายเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกันมากขึ้น
จากระบบสื่อสารด้วยสัญญาณไฟฟ้า ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเหล่านั้น กอปรกับการประยุกต์ ความรู้ด้านเสียง จึงเกิดเป็นระบบโทรศัพท์ ที่มนุษย์สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ในทันที โดยไม่ต้องแปลงสัญญาณด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ส่วนวิทยาการด้านระบบอัตโนมัติ(Automation)ในขบวนการทางอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ได้มีส่วนช่วยพัฒนาระบบชุมสายเพื่อติดต่อเชื่อมโยงสัญญาณโดยได้รับการปรับปรุงจากการใช้แรงงานคน (Manual) มาเป็นระบบเครื่องกลไฟฟ้า (Electro – Mechanical Switching) หรือครอสบาร์ (Crossbar) และกลายเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงระบบดิจิทัลในที่สุด

จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เหตุการณ์หนึ่ง ของระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร เกิดขึ้นเมื่อมีการค้นพบการแพร่กระจายคลื่นวิทยุ จนสามารถนำไปประยุกต์ จนเกิดเป็น
ระบบโทรเลขไร้สาย(Radio Telegraphy)ในยุคเริ่มต้นจนถึงการสื่อสารด้วยเสียงแบบไร้สายต่อเนื่องมา ควบคู่กับพัฒนาการด้านอิเล็กทรอนิกส์ การค้นพบทานซิสเตอร์ และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ความถี่สูง ทำให้เกิดการสื่อสารระยะไกลแบบไร้สายด้วยระบบคลื่นวิทยุ (Radio Relay) ต่อเนื่องมาจากระบบไร้สายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวิวัฒนาการที่ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้า ของระบบโทรคมนาคมโลกอีกสองประเภทหลักคือ การพัฒนาหน่วยทวนสัญญาณออกไปติดตั้งนอกโลก เพื่อครอบคลุมการสื่อสาร ในวงกว้าง กลายเป็นระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม รวมทั้งการนำแสงซึ่งมนุษย์เคยได้นำมา ใช้ในระบบโทรคมนาคมแรก สำหรับโทรเลขเชิงแสงแล้วนั้น นำมาใช้สำหรับการส่งผ่านเส้นใยนำแสงได้ ด้วยความเร็วการส่งข่าวสารสูงมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ปฏิวัติโลกการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ
จากโครงสร้างของระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นได้ช่วยขับเคลื่อนวิทยาการแขนงอื่น ๆ ด้านไฟฟ้าสื่อสารด้วย เช่น การประมวลผลสัญญาณ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ให้มีความเจริญรุดหน้า เกิดเป็นการคิดค้นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครือข่ายการสื่อสาร
อินเทอร์เน็ตที่ปฏิวัติการสื่อสารของมนุษย์ไปทั่วโลกต่อมาอีกหลายครั้ง
ภาพรวมโดยสังเขปนี้ ทำให้ทราบถึงพัฒนาการ ของระบบโทรคมนาคมและการสื่อสร ที่มนุษย์สร้างขึ้นใช้งาน เพื่อข้ามขอบเขตของระยะทาง ที่ใช้ติดต่อสื่อสาร
พร้อมกับการพัฒนา ด้านความเร็วการส่งข่าวสารที่สูงขึ้น และสะดวกในการใช้งานกว่าเดิม ซึ่งมีทั้งที่ยังคงใช้งานอยู่ และที่ได้ล้าสมัยไปแล้ว วิทยาการรากฐานและการประยุกต์ทั้งหมด ได้สร้างสรรค์ระบบโทรคมนาคม บนโลกนี้มากกว่า 200 ปี
ใน 200 ปีที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การสื่อสารได้พัฒนาเป็นโลกไร้พรมแดน

อินเตอร์เน็ต มีพัฒนาการมาจาก อาร์พาเน็ต (ARPAnet) ที่ตั้งขึ้นในปี 2512 เป็นเครือข่ายคอมพิวเคอร์ของกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ในงานวิจัยด้านทหาร (ARP : Advanced Research Project Agency)

มาถึงปี 2515 หลังจากที่เครือข่ายทดลองอาร์พาประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้มีการปรับปรุงหน่วยงานจากอาร์พามาเป็นดาร์พา (Defense Advanced Research Project Agency: DARPA) และในที่สุดปี 2518 อาร์พาเน็ตก็ขึ้นตรงกับหน่วยการสื่อสารของกองทัพ (Defense Communication Agency)

ในปี 2526 อาร์พาเน็ตก็ได้แบ่งเป็น 2 เครือข่ายด้านงานวิจัย ใช้ชื่ออาร์พาเน็ตเหมือนเดิม ส่วนเครือข่ายของกองทัพใช้ชื่อว่า มิลเน็ต (MILNET : Millitary Network) ซึ่งมีการเชื่อมต่อโดยใช้ โพรโตคอล TCP/IP (Transmission Control Protocol/Internet) เป็นครั้งแรก

ในปี 2528 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของอเมริกา (NSF) ได้ ให้เงินทุนในการสร้างศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 6 แห่ง และใช้ชื่อว่า NSFNETและพอมาถึงปี 2533 อาร์พารองรับภาระที่เป็นกระดูกสันหลัง (Backbone) ของระบบไม่ได้ จึงได้ยุติอาร์พาเน็ต และเปลี่ยนไปใช้ NSFNET และเครือข่ายขนาดมหึมา จนถึงทุกวันนี้ และเรียกเครือข่ายนี้ว่า อินเตอร์เน็ต โดยเครือข่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในอเมริกา และปัจจุบันนี้มีเครือข่ายย่อยมากถึง 50,000 เครือข่ายทีเดียว และคาดว่า ภายในปี 2543 จะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งโลกประมาณ 100 ล้านคน หรือใกล้เคียงกับประชากรในโลกทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยนั้น อินเตอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทอย่างมากในช่วงปี 2530-2535 โดยเริ่มจากการเป็นเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ระดับมหาวิทยาลัย (Campus Network) แล้วจึงเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2535และ ในปี 2538 ก็มี การเปิดให้ บริการอินเตอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ (รายแรก คือ อินเตอร์เน็ตเคเอสซี) ซึ่งขณะนั้น เวิร์ลด์ไวด์เว็บกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ต และสิ่งสำคัญของระบบอินเตอร์เน็ตก็คือ เว็บ (Web) และ เวิร์ลด์ไวด์เว็บ (World – Wide Web) บริการนี้ ถือว่าเป็นบริการที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุด

เพียงไม่ถึง 40 ปีจากวิวัฒนาการอินเตอร์เน็ต และอีกไม่เกิน 10 ปีโลกก็ได้รู้จักระบบสืบค้นอย่าง yahoo และ google การเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตยุคใหม่ก็ทำให้มนุษย์ยิ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของการสื่อสารมากขึ้น จนผู้คนส่วนหนึ่งในประเทศจีนต้องไปหาหมอในโรคที่ไม่มีเคยมีใครคิดว่าโรคนี้จะมีด้วย คือ โรคติดอินเตอร์เน็ต ต้องออนไลท์ตลอดเวลา หรือ บารัค โอบาม่าประธานาธิบดีสหรัฐ คนล่าสุดก็ยังต้องตรวจอีเมลล์ผ่านมือถือตลอดเวลา

ผมขอหยิบสถิติตอนหนึ่งของหนังสือ อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ได้ในชื่อเรื่องการปลูกฝังความรู้ (Embedding inteligence) ไว้อย่างน่าสนใจว่า “วันนี้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพีซี (PC) กว่า 800 ล้านเครื่อง เท่ากับหนึ่งเครื่องต่อประชากรเจ็ดหรือแปดคน วันนี้มีชิพคอมพิวเตอร์มากกว่า 500,000 ล้านอันทั่วโลก ชิพจำนวนมากบรรจุทรานซิสเตอร์ (สวิตช์ปิด – เปิด) กว่า 100 ล้านตัว และฮิวเล็ตต์-แพ็คการ์ดได้พบวิธีที่จะบรรจุทรานซิสเตอร์ ขนาดเท่าโมเลกุล จำนวนหลายพันล้านตัวลงบนชิพคอมพิวเตอร์หนึ่งอัน
วันนี้เรามีสวิตช์ดิจิตอลประมาณสี่พันล้านอันที่คลิกปิด-เปิด ต่อมนุษย์หนึ่งคนที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้
มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 1.7 พันล้านเครื่อง ในขณะเดียวกันก็มีการประเมินจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในโลกทั้งหมดว่าอยู่ระหว่าง 800 ล้านคน ถึง 1,000 ล้านคน และมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน” ตรงใจผมต้องที่ใช้คำว่าวันนี้ ซึ่งคำว่าวันนี้ อาจเป็นเมื่อวานนี้สำหรับบางคน และกลายเป็นอดีตต่อไป จากการเคลื่อนไหวของเวลา จากสถิติของวันนี้จึงกลายเป็นอดีต ซึ่งสถิติพวกนี้มีแนวโน้มสูงคนด้วยอำนาจของการสื่อสาร ที่บีบให้โลกนี้แบน สังคมบริโภค ทุนนิยมที่เรารู้จักกันดีว่าจะนำความสะดวกสบายให้กับชีวิตของเรา
จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ นั้นไม่มีใครตอบได้ แต่ที่แน่
อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าขยะจากทรานซิสเตอร์ที่ฝังทั้งในมือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะไปอยู่ที่ไหน ?

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงการมองในมุมภายนอก หรือ เรียกว่ามองโลกในเชิงวัตถุ
หากจะมองในมุมภายใน ก็ยังมีการสื่อสารที่ติดต่อซึ่งกันภายในร่างกายมนุษย์ บางส่วนจาก ของ หนังสือ วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี มาเพื่อสนับสนุนความคิดด้านการสื่อสารภายใน ที่กล่าวว่า “มีระบบการสื่อสารที่รู้ถึงกันทั้งหมด ระบบร่างกายทั้งหมดรู้ถึงกันเพื่อการรักษาดุลยภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่างกายใช้ระบบข้อมูลข่าวสารอย่างน้อย 3 ระบบด้วยกันคือ
1. ดีเอ็นเอ (DNA)
2. ระบบประสาท
3. ระบบสารเคมี

ดีเอ็นเอ (DNA) เป็นรหัส หรือ ข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่มีอยู่ในทุกเซลล์ที่กำหนดโครงสร้างและการทำหน้าที่ของเซลล์ ทุกเซลล์จึงมีข้อมูลข่าวสาร
ระบบประสาท ที่เชื่อมโยงทุกชุมชนของร่างกายเข้ากับสมองเพื่อให้สมองรู้ทั้งหมด ถ้าสมองไม่รู้ทั้งหมดจะไม่สามารถรักษาดุลภาพในร่างกายได้ สารเคมีอยู่รอบและในทุกเซลล์ สารเคมีเหล่านี้มีส่วนที่เป็นข้อมูลข่าวสารให้เซลล์รู้
จะเห็นได้ว่า ร่างกาย “ลงทุน” ในระบบสื่อสารอย่างเข้มข้นเพื่อให้ระบบทั้งระบบรู้ถึงกัน จะได้สามารถปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาดุลยภาพ หรือ ความเป็นปรกติของระบบได้
ระบบร่างกายเป็นตัวอย่างของระบบที่มีความเป็นระบบเดียวกัน ที่มีความสอดคล้อง สมดุล ความเป็นปรกติ และความยั่งยืน สังคมไม่เป็นอย่างนั้น ห่างไกลจากความเป็นอยา่งนั้น มนุษย์ทั้งหมดไม่ได้มีจิตเดียวกัน มีความเห็นแก่ตัว แย่งชิง เกี่ยงกัน หรือทำร้ายกัน ขาดหน่วยพื้นฐานทางสังคมซึ่งน่าจะตรงกับชุมชน ชุมชนที่เคยมีก็ล่มสลายไปด้วยการพัฒนาสมัยใหม่ที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล ทำให้มนุษย์ขาดภูมิคุ้มกัน ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ยังใช้เพื่อการกระตุ้นวัตถุนิยม บริโภคนิยม มากกว่าเพื่อการรู้ตัวเอง และความประสานสอดคล้องของสังคม”

ส่วนนี้กล่าวมาเป็นตัวแปร ที่เรียกว่าปัจจัยภายใน ซึ่งในภายในนี้ก็มีการสื่อสารกันในร่างกาย ในระดับเซลล์ จนถึงประจุไฟฟ้าอิเล็คตอนทั้งที่เป็นขั้วบวกและขั้วลบ วิ่งในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งปัจจัยภายในนี้เองมีระบบสื่อสารที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด

ย้อนกลับมาที่สมการ X + Y = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต หากผมให้ Y คือ เวลา
ดังนั้น X คืออะไร X ประกอบด้วย n ที่เป็นตัวแปรทำให้ X มีคุณค่า นั้นคือ
Xn+ เวลา= อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต
X ประกอบด้วย ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายใน
ส่วน n ก็คือ มนุษย์
X ที่เป็นปัจจัยภายนอก คือ ความเจริญของเทคโนโลยี สังคมทุนนิยม ที่ทำให้โลกเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อและศรัทธา รวมถึงความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต ที่ประสานกันจนดูเหมือนโลกทั้งใบนั้นแบนราบ ตามที่หนังสือ The World is Flat ได้กล่าวไว้ เมื่อทำการ เสริมตัวแปรจากเวลา ด้วยทำให้เกิดคำว่า ล้าสมัย และทำให้เกิดคำว่าทันสมัย
X ที่เป็นปัจจัยภายใน คือ อายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ที่เกิดจากปฏิกริยาเคมีและการสื่อสารภายตัวของมนุษย์ เมื่อ มนุษย์ได้รับรู้กับสิ่งเล้ารอบข้าง เกิดการลองผิดลองถูก จนได้เรียนรู้ ทำให้เกิดประสบการณ์ และการประยุกต์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างความผาสุข ในการดำเนินชีวิต

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สมการที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นอาจเขียนได้ดังนี้
(ปัจจัยภายนอก x มนุษย์ ) + เวลา = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต
(ปัจจัยภายใน x มนุษย์) + เวลา = อิทธิพลการสื่อสารต่อชีวิต

ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ มนุษย์ หากมนุษย์ เข้าใจถึง ความจริง ความงาม และความดี แล้ว อิทธิพลการสื่อสารที่มีผลต่อการใช้ชีวิตจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ และเป็นหนึ่งเดียวกันจากความเป็นครอบครัวเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน ท้องถิ่นเดียวกัน ประเทศเดียวกัน และโลกเดียวกัน การประสานเป็นหนึ่งเดียวด้วยความเกื้อกูลกันจะทำให้อำนาจของการสื่อสารเข้าถึงยุคแห่งความงาม และความดีต่อไป

ประกอบสนับสนุนแนวคิดนี้ จาก
หนังสือ บทสารานุกรมโทรคมนาคมไทย
หนังสือ Revolution Wealth
หนังสือ Third wave
หนังสือ The World is Flat
บทความของคุณเปลวสีเงิน
บางส่วนจากพระพุทธทาส เทศนาธรรมะกับวิทยาศาสตร์ ปี 2521
ผ.ศ.สดชื่อ วิบูลยเสข เรื่องเจาะเวลา หาเวลา
การสื่อสารของมนุษย์ ของ อาจารย์มารยาท ประเสริฐ
การเข้าถึงสิ่งสูงสุด ความจริง ความงาม ความดี
และ วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman


Posted

in

,

by

Tags: