” ธรรมย่อมเหนือกาลเวลา “ สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คําบรรยายภาพ
“ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ” หมายถึง เมื่อสิ่งนี้มี สิ้งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน
— วงกลมในสุด ท่านเห็นรูปภาพ หมูคาบหางงู งูคาบหางไก่ ไก่คาบหางหมู เป็นวัฏฏะหมุนเวียนของจิตวิญญาณเกิดดับทุกๆขณะ เมื่อผัสสะโดยอวิชชา จนเป็นอนุสัย เกิดขึ้นโดยนับครั้งไม่ถ้วน
ถามว่าแล้วกฏอิทัปปัจจยตาคืออะไร ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่อย่างสอดคล้องกับกฏเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งหมายถึงว่าอยู่ได้โดยปกติสุขโดยไม่ถูกลงโทษลงทัณฑ์?
เรื่องนี้คงจะต้องจำแนกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะพูดกันตามความจริง ธรรมชาติเลื่อนไหลไปตามกฏดังกล่าวอยู่แล้ว มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่บ่อยครั้ง หยั่งไม่ถึงกฏแห่งการไร้ตัวตน กฏแห่งการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นมีอยู่ ตลอดจนกฏแห่งการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลไปตามเหตุปัจจัย
ในโลกของธรรมชาติ ถ้าเราช่างสังเกตุสักหน่อยก็จะพบว่า ปรากฏการณ์ทั้งปวงล้วนก่อรูป ตั้งอยู่ และแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พูดให้งดงามก็ทุกอย่างในโลกธรรมชาติล้วนดำเนินไปในอ้อมกอดของสุญญตา สรรพสิ่งยืมตัวเองมาจากการมีอยู่ของสิ่งอื่น ใน ทะเลมีสายฝน ในหยาดฝนมีทะเลกว้าง ละอองไอในก้อนเมฆ แท้จริงแล้วคือท้องทะเลที่กำลังเดินทาง เมื่อเราเห็นฝนก็คือเห็นทะเล เห็นทะเลก็คือเห็นฝน
เกี่ยวกับกฏอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทนั้น ครูบาอาจารย์ผู้รู้ ยังมีทัศนะต่างกันอยู่เล็กน้อย บางท่านเคร่งครัดตามพุทธวจนะที่เริ่มต้นด้วย อวิชฺชาปจฺจยา สํขารา
–> เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี ตามด้วย
–> เพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี ต่อเนื่องไปจนครบ 12 อาการ จึงมองว่าทั้งหมดเป็นสายโซ่แห่งทุกข์ ไม่ว่าจะไล่เหตุปัจจัยในลักษณะอนุโลมหรือปฏิโลมก็ตาม
รูปจาก ปฏิจจสมุปบาท และ วัฏฏะ
* เบญจขันธ์ (http://nontawattalk.blogspot.com/2007/02/blog-post.html)
ร่างกาย เรียกว่า รูป (รูปธรรม)
ความรู้สึกสุขทุกข์ เรียกว่า เวทนา (นามรูป)
การจำได้หมายรู้ เรียกว่า สัญญา (นามรูป)
การคิดปรุงแต่ง เรียกว่า สังขาร (นามรูป)
การรู้ เรียกว่า วิญญาณ (นามธรรม) ความรู้แจ้งจากอายตนะ ทั้ง 6 จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
การพิจารณาเช่นนี้หมายความว่า อาการหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอีกอาการหนึ่ง เช่น
อวิชชาทำให้เกิดสังขาร (หรือการปรุงแต่ง) จากนั้น
สังขารกลายเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ไล่ไปเรื่อยๆ
จนถึงอาการของชาติซึ่งมีภพเป็นปัจจัย
พูดอีกแบบคือ นี่เป็น การเห็นปรากฏการณ์ทางโลกไล่เรียงไปตามสายโซ่ของเหตุและผล ซึ่งผลสามารถกลายเป็นเหตุปัจจัยส่งต่อ ให้เกิดผลอื่นๆต่อเนื่องไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด
อย่างไรก็ดี ครูบาอาจารย์ผู้รู้บางท่านเห็นว่า การตีความปฏิจจสมุปบาทในลักษณะอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผลในทิศเดียวอาจจะอธิบายความจริงไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงเน้นไปในการพิจารณา ปฏิสัมพันธ์ของนานาปัจจัยซึ่งก่อให้เกิด ปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นในโลก ซึ่งหมายถึงว่าเหตุและผลสามารถไหลย้อนกลับไปกลับมา ไม่จำเป็นว่าอย่างหนึ่งเป็นต้นเหตุของอีกอย่างหนึ่ง การมีอยู่ของสิ่งใดก็ตาม เป็นผลมาจากการชุมนุมของนานาปัจจัย เมื่อปัจจัยพร้อมสิ่งนี้จึงเกิด เมื่อปัจจัยเปลี่ยนสิ่งนั้นจึงดับ เหมือนเมล็ดพันธุ์ไม้ผลิงอก ปัจจัยต้องพร้อมทั้งดิน น้ำ แสงตะวัน
ในพระไตรปิฎกเอง แม้คำอธิบายส่วนใหญ่จะให้พื้นที่กับการลำดับ 12 อาการไปในทิศทางเดียว โดยเริ่มต้นจาก อวิชฺชาปจฺจยา สํขารา แต่ก็มีคำอธิบายอยู่ในพระอภิธรรมว่า แม้แต่อวิชชาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็เป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้สังขารยังสามารถย้อนมา เป็นปัจจัยก่อให้เกิดอวิชชาได้เช่นกัน
อันนี้ถ้าให้ตีความ ก็คงต้องบอกว่าการแยกเหตุกับผลอย่างเด็ดขาด อาจจะไม่ถูกต้องนัก บางครั้งสรรพสิ่งอาจจะเป็นเหตุและผลของกันและกัน ในปราฏการณ์ที่เป็นวัฏจักรเวียนวน ยกตัวอย่างเดิม เช่นความสัมพันธ์ระหว่างฝนกับทะเล เราจะบอกว่าฝนมาจากทะเลก็ได้ หรือทะเลมาจากฝนก็ถูกต้องเช่นกัน ยิ่งบอกว่าทะเลกับสายฝนเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งตรงกับปรมัตถ์สัจจะที่สุด
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าเหตุ ปัจจัยทั้งปวงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ หากเป็นผลจากการมีอยู่ของปัจจัยอื่นทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเองได้โดยไม่มีเหตุปัจจัย ถ้าเราเข้าใจจุดนี้แล้ว ก็จะพบว่าการโทษปัจจัยใดหรือบุคคลใดโดดๆว่า เป็นต้นเหตุเพียงอย่างเดียวของปรากฏการณ์ หรือสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา ย่อมเป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องกับความจริง
ตรงนี้จึงนำมาสู่ประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา คือการนำหลักธรรมดังกล่าวมาส่องให้เห็นความว่างอันเป็นลักษณะของโลก แต่การหยั่งถึงสภาพสุญญตาของโลกเป็นสิ่งที่ยากมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่อาศัยหลักธรรมนี้มาขัดเกลาตัวเองเสียก่อน
กฏอิทัปปัจจยตา หากมองเป็นการสืบสวนสอบสวนทางข้อมูลไอที ก็เปรียบได้กับผลจากความสัมพันธ์ห่วงโซ่เหตุการณ์ (Chain of Event) ที่ไหลเวียนจาก 3 in 3 out Model ที่ผมเขียนไว้ จึงเป็นหลักการณ์หนึ่งที่ช่วยให้ท่านทั้งหลายวิเคราะห์ปัญหาทางไอทีได้อย่างมีเหตุผลมีผล
จากการบรรยายเรื่องสูญยตา ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
เสริมจาก http://nontawattalk.blogspot.com/2008/09/blog-post_22.html
เชื่อมโยงกับ http://nontawattalk.blogspot.com/2007/05/3-in-3-out.html