“ปีค.ศ. 1864 ใกล้จะสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของอเมริกา ยูลีซิส เอส. แกรนด์ (ค.ศ.1822-1885)ผู้บังคับบัญชากองทหารฝ่ายเหนือได้ใช้ โทรเลข ติดต่อสื่อสารกับกองทหารที่ตั้งค่ายอยู่ห่างไกลจนชนะทหารฝ่ายใต้ได้ในที่สุด แกรนด์ตระหนักว่า ข่าวสารทางโทรเลขมีผลต่อชัยชนในครั้งนี้”
คุณอาผม เคยบอกผมว่า มี 3 อย่างที่เอาคืนมาไม่ได้
1. คำพูด
2. ลูกกระสุน
3. เวลา
และเวลานี้แหละ ในชั่วชีวิตของเราเอง ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย และสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็น บางครั้งเป็นที่นิยม บางครั้งก็ไม่นิยม และสลายไปตามกาลเวลา
เมื่อปีที่แล้ว ผมเข้าไปส่งของที่ไปรษณีย์ พบหญิงสาวคนหนึ่งกำลังขอใช้บริการโทรเลข ผมนึกในใจว่า “สมัยนี้ยังมีคนใช้อยู่อีกเหรอ” แต่อีกใจหนึ่ง ก็มองว่า ก็น่ารักดี ไปอีกแบบ เหมือนเราได้ย้อนเวลากับไปในอดีต มีความพิถีพิถันในการส่งข้อความที่กระชับ และเข้าใจง่าย ให้กับผู้รับสาร ได้รับทราบ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 51 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะได้ส่งโทรเลขกัน และวันนี้เองผมติดสอนที่ กสท โทรคมนาคม พอดี ในช่วงพักทานอาหาร พวกเราได้สนทนากันเรื่องโทรเลข มีผู้ช่วยสอนท่านหนึ่งบอกว่า “รู้หรือเปล่าว่าในการส่งโทรเลข ที่ส่งข้อความสั้นที่สุดคืออะไร” สำหรับคนที่เคยทำงานอยู่ช่วงนั้น ก็คงจะพอตอบได้ แต่สำหรับผมถือว่าเป็นความรู้ใหม่ คำที่สั้นที่สุดในการส่งโทรเลข คือ 1 นี้เอง
ส่งแค่หมายเลข 1 แล้วจะรู้ความหมายกันหรือ ? คนที่อยู่ช่วงโทรเลขนิยมใช้ รู้กันครับ ว่านั้นคือสัญลักษณ์เพศชาย
เมื่อกาลเวลาได้ผันผ่านไป มาในปี 2551 นี้ โทรเลข ที่น่ารักและมีความทรงจำมากมาย จำเป็นต้องปิดบริการไป จึงขอเสนอคำนิยามเกี่ยวกับโทรเลข ดังนี้
คำว่า “โทรเลข” (telegraph) มาจากภาษากรีก หมายถึง “การเขียนจากระยะไกล”
โทรเลขในประเทศไทยเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2418 สมัยรัชกาลที่ 5 กรมกลาโหมดำเนินการสร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพมหานครไปปากน้ำ หรือ จ.สมุทรปราการ ในปัจจุบัน โดยวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไปถึงกระโจมไฟนอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้า พระยา รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการส่งข่าวสารทางราชการเป็นหลัก ต่อมาในปีพ.ศ. 2426 จึงมีการสถาปนาตั้ง กรมโทรเลข ขึ้นพร้อมกับกรมไปรษณีย์ก่อนที่โทรเลขย้ายมาให้บริการโดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
จากแหล่งข้อมูลกล่าวว่า ปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการโทรเลขเหลือเพียงเดือนละประมาณ 100 ฉบับ คิดเป็นรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ขณะที่มีต้นทุนจากการจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้มาดูแลการให้บริการโทรเลขถึงเดือนละ 25 ล้านบาท จากเดิมที่บริการโทรเลขได้รับความนิยมสูงสุดโดยในเดือนมีนาคม 2538 มีผู้ใช้บริการขาเข้าสูงถึง 487,984 ฉบับ และขาออกอีกกว่า 500,000 ฉบับ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริการโทรเลขเคยมียอดผู้ใช้สูงสุดอยู่ที่ปีละ 3 ล้านฉบับ หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.5 แสนฉบับ แต่ปัจจุบันมียอดใช้งานวันละไม่ถึง 100 ฉบับ หรือประมาณปีละ 4,000 ฉบับ และมีรายได้เพียงเดือนละ 5,000 บาท โดยข้อความในโทรเลขส่วนใหญ่เป็นจดหมายทวงหนี้ (คงไม่ใช่สิ่งที่ผมได้พบ เห็นเมื่อปีที่แล้วหลอกนะ)
โดยมีการให้บริการโทรเลขในประเทศ 7 ชนิด ภายใต้ข้อบังคับของการสื่อสารฯ ในขณะนั้น ได้แก่ โทรเลขแจ้งเหตุสาธารณภัย, โทรเลขรัฐบาล, โทรเลขบริการ, โทรเลขอุตุนิยมวิทยา, โทรเลขสามัญ, โทรเลขข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการใช้บริการโทรเลขในประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 2 ชนิด คือ โทรเลขบริการ (โทรเลขบริการเสียเงิน) และโทรเลขสามัญ คือโทรเลขที่รับ-ส่ง ไปมาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
ขณะที่การให้บริการโทรเลขต่างประเทศมี 8 ชนิด โดยเพิ่มโทรเลขเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งได้รับความคุ้มครองในระหว่างสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวา (ลงวันที่ 14 ส.ค. 2492) และโทรเลขสาร โดยไม่มีโทรเลขร้องทุกข์ ส่วนการให้บริการโทรเลขต่างประเทศสำหรับประชาชนทั่วไปมี 3 ชนิด คือ โทรเลขสามัญ, โทรเลขบริการ และโทรเลขสาร
133 ปี ที่ให้บริการขาวไทยมา ทั้งสุข และทุกข์ กับข่าวด่วนที่ได้รับจาก โทรเลขถึงได้ปิดบริการไปแล้ว แต่โทรเลขก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป ..
นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman
30/04/51
อ้างอิง
http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK7/chapter9/t7-9-l2.htm#sect2
โทรเลข จาก วิกิพีเดีย
อิเล็คทรอนิกกับการมองเห็น
โทรเลขกับรถไฟไทย