เพราะโลกมันแบน ตอนที่ 1


ที่ว่าโลกแบน ไม่ใช่อะไร ความแบนนั้นมันอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ของเราเอง จากหนังสือ The World is Flat แปลเป็นไทยว่า ใครว่าโลกกลม ผู้แต่ง Thomas L. Friedman ได้สรุปสาระสำคัญได้เป็น 8 หัวข้อใหญ่ๆ คือ

1. ทำไมเขาถึงว่าโลกแบน

“หมายถึง การที่โลกปัจจุบันมีข้อจำกัดต่างๆ น้อยลงๆ มีการผสมรวมกัน (integrate) มากขึ้น อาจเปรียบเทียบได้กับโลกที่ถูกกดให้แบนด้วยแรงต่างๆ (ดูแรง 10 อย่างที่กดทับให้โลกแบน ในหัวข้อที่ 3 ข้างล่าง) ทำให้ภูเขาสูงที่บดบังวิสัยทัศน์ และปิดกั้นโอกาสต่างๆ ได้ถูกทำลายลง ผู้คนบนโลกต่างมีโอกาสแข่งขันกันได้มากขึ้น”

2. โลกาภิวัตน์ 3 ยุค

“ผู้เขียนขนานนามยุคโลกาภิวัตน์ ที่ต่างกัน 3 ยุค โดยเรียกเล่นๆว่า Globalisation 1.0, 2.0, และ 3.0

Globalisation 1.0 (ราว ค.ศ. 1429 – 1800) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจเส้นการเดินทางบนโลก เพื่อการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อเป็นตลาดสินค้า ของประเทศผู้ล่าอาณานิคม ในยุคนี้ตัวเร่งกระบวนการโลกาภิวัตน์ คือ การที่ประเทศต่างๆพยามใช้พลังอำนาจที่ตนมีอยู่ ขยายอิทธิพลออกไป
Globalisation 2.0 (ราว ค.ศ. 1800 – 2000) เป็นช่วงที่เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ และสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของยุคนี้ ตัวเร่งกระบวนการโลกาภิวัตน์คือ ค่าขนส่งที่ต่ำลงอันเป็นผลมาจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำและรถไฟ ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของยุค มีตัวเร่งคือต้นทุนการสื่อสารคมนาคมที่ต่ำลง อันเป็นผลมาจากการหลอมหลวมกันของเทคโนโลยีหลายประเภท เช่น โทรเลข โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เคเบิลใยแก้ว และอินเตอร์เนตยุคต้นๆ
Globalisation 3.0 (ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา) เป็นยุคที่ปัจเจกบุคคลมีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้นจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งก็คือการที่หน่วย หรือองค์กรการทำงาเล็กลงแข่งขันมากขึ้นนั่งเอง”

“นี่คือเหตุผลที่ผมมักพูดเสมอว่าต่อไปโลกธุรกิจจะเป็นแบบ Small but Smart งัยครับ”

3. แรง 10 อย่าง ที่กดให้โลกแบน

3.1 การพังทลายกำแพงเบอร์ลิน เป็นเหมือนการปลดปล่อยพลังงานที่ถูกขังอยู่ภายในอาณาจักรคอมมิวนิสต์มานาน เป็นการเปลี่ยนสมดุลไปสู่โลกแห่งประชาธิปไตยและการค้าเสรี นับเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยมด้วยชัยชนะของฝ่ายแรก เมื่อสังคมนิยมหายไป มนุษย์ก็ต้องอยู่กับทุนนิยมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

3.2 การเปิดตัวของ Netscape ที่เปลี่ยนแปลงการเชื่อมระบบจาก PC-based เป็น Internet-based อันก่อให้เกิดผลที่สำคัญ คือการขยายตัวของการใช้อีเมล์ และ Web browser ที่สามารถหาข้อมูลที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตมาแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของทุกคนได้อย่างง่ายดาย

3.3 Work flow software เช่น ฝ่ายขายของบริษัทแห่งหนึ่ง รับออร์เดอร์ลูกค้าทางอีเมล์ แล้วก็ฟอร์เวิร์ดต่อไปยังฝ่ายขนส่งสินค้า เพื่อให้จัดส่งสินค้าแก่ลูกค้าพร้อมกับใบเสร็จที่พิมพ์ออกมาได้ทันที และเมื่อสินค้าถูกขายไปแล้วโปรแกรมเช็คสต็อคสินค้า ก็จะรู้เองโดยอัตโนมัติว่าต้องสั่งสินค้าตัวนี้มาสต็อคเพิ่ม มันจึงส่งคำสั่งไปยัง supplier ได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็คือการใช้งาน IT เพื่อลด Torque ในการทำงานนั่นเอง หรืออีกตัวอย่างที่ทันสมัยอันหนึ่งคือ PayPal ที่ทำให้ eBay ทำ e-commerce ได้สำเร็จใหญ่หลวง PayPal เป็นระบบการโอนเงินที่มีการก่อตั้งในปี 1998 เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกรรมแบบ C2C (Customer-to-Customer) ของ eBay ใครๆที่มี email address ก็สามารถส่งเงินให้ผู้อื่นผ่านบริการ PayPal ได้ แม้ว่าผู้รับจะมีบัญชี PayPal หรือไม่ก็ตาม ในการซื้อขายสินค้า ผู้ซื้อสามารถเลือกจ่ายเงินผ่าน PayPal ได้ 3 แบบ คือ 1) ผ่านเครดิตการ์ด 2) หักบัญชีเช็ค 3) หักจากบัญชี PayPal ที่เปิดไว้ล่วงหน้า ส่วนผู้ขายก็จะสามารถเลือกรับเงินได้หลายทาง ได้แก่ 1) เข้าบัญชี PayPal (ถ้ามี) 2) รับเป็นเช็ค 3) ฝากเข้าบัญชีเช็คของผู้รับ การเปิดบัญชี PayPal ก็ง่ายๆ ถ้าคุณต้องเป็นคนจ่ายเงิน คุณก็แค่แจ้งชื่อ e-mail address ข้อมูลเครดิตการ์ด และที่อยู่ตามบิลเครดิตการ์ด

3.4 Open-Sourcing ยกตัวอย่างโปรแกรม Apache (อปาเช่) ที่เป็น shareware โปรแกรมเกี่ยวกับ e-commerce อันหนึ่ง ที่ใครๆก็ดาวน์โหลดได้ฟรีทางอินเตอร์เน็ต Apache เกิดจากการที่นักพัฒนา software หลายพันคนทั่วโลกร่วมกันทำงาน on-line พัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา มันเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Open-source movement ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น คำว่า Open-Source มาจากแนวคิดที่บริษัทหรือกลุ่มคนได้เปิด source code (คือคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ที่ทำให้โปรแกรมหนึ่งๆทำงานได้ บริษัทที่ทำโปรแกรมขายจะรักษาความลับของ source code ไว้ เพราะถือเป็นหัวใจของโปรแกรมแต่ละโปรแกรม) ให้ทุกคนสามารถใช้ได้บนอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ใครก็ได้ มาช่วยกันปรับปรุง แล้วก็เปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี มี Open-source movement หลักๆ 2 กระแส
1.) การแชร์ความรู้ (intellectual commons movement) คล้ายกับ network ของนักวิชาการ เพียงแต่เปิดกว้างให้ใครๆก็เข้าร่วมได้ ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะมีคนเข้ามาแชร์ความรู้ และการพัฒนาขององค์ความรู้ ตัวอย่างเช่น การเขียน Weblog หรือการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งของ สารานุกรมออนไลน์ wikipedia ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน สามารถส่งข้อมูลเกี่ยวกับทุกๆหัวเรื่องเข้ามาเพิ่มเติม
2.) การร่วมกันพัฒนา free software เป้าหมายแรกเริ่มคือ ให้มีคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้มาร่วมกันเขียน ปรับปรุง เผยแพร่โปรแกรมออกไปสู่ผู้ใช้โดยไม่คิดเงิน ซึ่งเป็นการทำให้ปัจเจกบุคคลมีพลังมากขึ้นด้วยการร่วมมือกันกับใครๆก็ได้ในโลกนี้ ตัวอย่างของ open-source free software ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จที่สุด จนโคตรยักษ์อย่าง Microsoft ยังต้องปรายตามาดู ก็คือ Linux Operating System หรือที่กำลังโด่งดังอยู่ตอนนี้ก็คือ web browser ที่ชื่อว่า Firefox

3.5 Outsourcing ดั่งคำพูดที่ว่า “โชคย่อมเข้าข้างผู้ที่เตรียมพร้อม –หลุยส์ ปาสเตอร์”
“Outsourcing คือ การมอบหมาย (จ้าง) ให้คนนอกบริษัททำงานบางอย่าง ที่เราเคยทำเองอยู่ในบริษัทของเรา (เช่น วิจัย, call centre, ติดตามเก็บเงินลูกค้า) แทนเรา ดังนั้นเราอาจมองได้ว่า Outsourcing ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานร่วมกัน ผู้เขียนได้ยกกรณีของอินเดีย ให้เห็นเป็นตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการ Outsource โดยเล่าให้ฟังว่า ความเจริญของอินเดีย เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมของผู้นำในอดีต โดยการส่งเสริมการศึกษาของประชาชน ที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และแพทยศาสตร์ เริ่มจากการตั้ง Indian Institutes of Technology (IIT) ของนายกฯเนรู การที่อินเดียมีประชากรกว่า 1 พันล้านคน ทำให้เยาวชนต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อโอกาสเรียนต่อ ในระดับอุดมศึกษา ทำให้มีแต่คนชั้นหัวกะทิจริงๆที่จบมาได้ การส่งเสริมคุณภาพคนอย่างต่อเนื่อง เปรียบได้กับการเตรียมความพร้อมของคนไว้ รอเพียงแต่จังหวะโอกาสเหมาะที่จะเข้ามา ซึ่งในที่สุดโอกาสทองของอินเดียก็มาถึง นั่นคือ การที่อเมริกาเร่งนำเข้าคน IT จากอินเดียเพื่อป้องกันปัญหา Y2K ที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้นกับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ในวินาทีที่โลกก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ จากการมีความสามารถแต่ค่าจ้างถูก ทำให้คน IT อินเดียที่อยู่ในอเมริกาเหล่านี้หางานทำได้ง่าย และยังนำไปสู่การ outsource งาน IT อื่นๆจากสหรัฐไปยังอินเดีย เหตุการณ์นี้ทำให้อินเดียมีชื่อเสียงขึ้นมา ทางด้านแรงงานฝีมือทาง IT ที่มีความรู้ความสามารถ ผู้เขียนถึงกับกล่าวว่า ถ้าวันที่ 15 สิงหาคม ถือเป็นวันประกาศอิสรภาพของประเทศอินเดียแล้ว วินาทีที่โลกก้าวเข้าสู่สหัสวรรษที่ 3 นี้ก็อาจถือได้ว่าเป็นการประกาศอิสรภาพแก่ผู้คนชาวอินเดีย

3.6 Offshoring ต่างจาก outsourcing ตรงที่ outsourcing ให้คนอื่นทำงานให้เฉพาะบาง function แต่ offshoring เป็นการยกโรงงานทั้งโรงไปไว้ที่ต่างประเทศ ด้วยเหตุผลด้านค่าแรงงานที่ถูกลง ภาษีต่ำกว่า ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลประเทศที่ไปตั้งโรงงาน และต้นทุนทางด้านการดูแลสุขภาพพนักงานก็ต่ำลงด้วย การเปิดประเทศและเข้าร่วม WTO ของจีนทำให้ Offshoring กลับมาเป็นหัวข้อสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

3.7 Supply-Chaining เป็นการร่วมมือกันทำงานรูปแบบหนึ่งระหว่าง supplier, retailers, และลูกค้า ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม บริษัทที่บริหาร supply chain ได้ดีที่สุด คือ Wal-Mart ซึ่งมีส่วนทำให้เป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ และมีกำไรสูงที่สุดในโลก ตัวอย่างของแนวทางที่ Wal-Mart ใช้ เช่น เมื่อผู้บริหารมองเห็นถึงความไม่สะดวกและไม่ประหยัดที่จะให้ suppliers ทุกรายขับรถมาส่งของที่ Wal-Mart แต่ละสาขา ทำให้ Wal-Mart ตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Centre) ขึ้นมาเป็นจุดๆ เพื่อให้ suppliers ทุกรายขนสินค้ามาส่งรวมกันที่ศูนย์นี้ เมื่อสินค้ามารวมกันแล้ว Wal-Mart ก็จะจัดแจงขนสินค้าไปยังสาขาของ Wal-Mart แต่ละแห่งในพื้นที่นั้นเอง การทำเช่นนี้ แม้จะทำให้ Wal-Mart มีต้นทุนจากการขนส่งเพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็สามารถลดจำนวนเงิน ที่จะต้องจ่ายให้ retailers ทุกๆเจ้ามาส่งของให้โดยตรงได้เช่นกัน เมื่อหักกลบลบกันแล้วยังทำให้ Wal-Mart เพิ่มกำไรขึ้นอีกถึง 2% (ฟังดูเหมือนน้อย แต่อย่าลืมว่า Wal-Mart มีรายได้เกือบ 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2005 ที่ผ่านมา

3.8 Insourcing เช่น บริษัทขนส่งสินค้าและพัสดุอย่าง FedEx หรือ UPS ไม่ใช่เพียงแต่รับจ้างขนส่งสินค้าจากต้นทางสู่ปลายทางเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบ supply chains ของบริษัทต่างๆทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น UPS เคยรับขน computer notebook ที่ลูกค้าโตชิบ้าต้องการส่งซ่อมไปยังศูนย์ซ่อมของ โตชิบ้า แต่มันก็ใช้เวลานาน กว่าที่ UPS จะไปรับเครื่องเพื่อเอาไปส่งศูนย์ซ่อม กว่าจะซ่อมเสร็จ และต้องไปรับมาส่งคืนลูกค้าอีก ทำให้ไม่เป็นที่ทันใจของลูกค้า จึงเกิดความคิดว่าให้โตชิบาบอกลูกค้าว่า “ถ้าเครื่องเสีย ให้ลูกค้าเอาเครื่องไปทิ้งไว้ที่ UPS แล้ว UPS จะส่งเครื่องไปซ่อมที่ศูนย์โตชิบาแล้วเอากลับมาส่งคืนให้” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ เมื่อลูกค้าเอาเครื่องมาส่งแล้ว UPS ก็จะซ่อมเองเลย โดยใช้พนักงานของ UPS ที่ได้รับการรับรองจากโตชิบ้า ซ่อมเสร็จก็ส่งคืนลูกค้า โดยไม่ต้องมีการส่งเข้าศูนย์ซ่อมโตชิบ้าแต่อย่างใด การทำอย่างนี้ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ คือ 1) ลูกค้าพอใจมากขึ้นที่ส่งเครื่องไปซ่อมแล้วได้คืนเร็ว 2) UPS สร้างรายได้มากขึ้น จากการซ่อมคอมพ์ที่เสียให้โตชิบา 3) โตชิบ้าไม่ต้องเสียต้นทุนค่าขนส่งและซ่อมเครื่องเอง Insourcing เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหนึ่งๆสามารถมองเห็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ (ไม่จำกัดพื้นที่ในโลก) ที่ตนจะขายสินค้าได้ราคาดีขึ้น/มากขึ้น ผลิตสินค้าได้ในต้นทุนที่ต่ำลง หรือซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง

3.9 In-Forming คือการที่คนสามารถหาข้อมูลความรู้และติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย (be informed) ทางอินเตอร์เนต ไม่ว่าจะเป็น Google, Yahoo, MSN ผู้เขียนมองว่า in-forming คือการที่คนๆหนึ่งสามารถประยุกต์ใช้แนวความคิดเรื่อง open-sourcing, outsourcing, insourcing, supply-chaining, และ offshoring ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง
3.10 The Steroids หมายถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิตอลไร้สาย ที่ผู้เขียนเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า steroid ก็เพราะมันเพิ่มพลัง เสริมแรงทั้ง 9 ข้างต้น ให้ช่วยกันทำให้โลกแบนเร็วยิ่งขึ้น”

อ่่านต่อตอนหน้าครับ

นนทวรรธนะ สาระมาน
Nontawattana Saraman

1 ความคิดเห็นเกี่ยวกับ “เพราะโลกมันแบน ตอนที่ 1

ปิดรับความเห็นแล้ว